About us l Thalassemia l Diagnosis l Treatment l PND l Questions l Thalassemia Club lConference l Links l News l HOME

การรักษาโรคธาลัสซีเมีย:

คำแนะนำสำหรับการให้ยาขับธาตุเหล็ก:


การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ซีดมาก ข้อเสียอย่างหนึ่งของการให้เลือดคือ ธาตุเหล็กจากเลือดที่ได้รับจะสะสมอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจของผู้ป่วยซึ่งจะมีผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น

เดสเฟอราล (Desferal) เป็นยาที่ฤทธิ์ขับธาตุเหล็กที่เกินอยู่ในร่างกายออกไปได้ โดยยาจะจับธาตุเหล็กในร่างกาย และส่วนใหญ่ธาตุเหล็กจะถูกขับออกทางปัสสาวะ นิยมฉีดเดสเฟอราลเข้าใต้ผิวหนังในเวลากลางคืนสัปดาห์ละ 4-7 ครั้ง ทั้งนี้สุดแล้ว แต่ปริมาณธาตุเหล็กที่เกินอยู่ สามารถให้เดสเฟอราลเข้าเส้นได้เช่นกัน การฉีดยาควรให้ช้า ๆในเวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้ยามีเวลาออกฤทธิ์ได้นาน

ขั้นตอนในการให้ยาเดสเฟอราล :

เตรียมอุปกรณ์
  1. ยาเดสเฟอราลขนาด 500 มิลลิกรัมต่อขวด
  2. น้ำกลั่น (Distilled water for injection) ขนาด 5 มิลลิลิตร
  3. กระบอกฉีดยา (syringe) ขนาด 5 มิลลิลิตร
  4. เข็มเบอร์ 20 (20 G ) สำหรับดูดยา
  5. เข็มปีกผีเสื้อมีสายสำหรับให้ยา เบอร์ 25 หรือ 27 (25 G, 27 G)
  6. สำลีสะอาด
  7. แอลดอฮอล์ 70%
  8. เทปไมโครพอร์ (micropore) ขนาด 1 นิ้ว
  9. ใบเลื่อยสำหรับตัดขวดน้ำกลั่น
  10. เครื่องมือขับยาธาตุเหล็ก (Infusionpump)
การเตรียมยาและการให้ยา ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง
  1. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดคอขวดน้ำกลั่นและจุกยางขวดยาเดสเฟอราล
  2. ใช้ใบเลื่อย เลื่อยคอขวดน้ำกลั่น
  3. สวมเข็มเบอร์ 20 เข้ากับกระบอกฉีดยา
  4. ดูดน้ำกลั่นเข้ากระบอฉีดยา
  5. แทงเข็มของกระบอกฉีดยาผ่านจุกยางของขวดยาเดสเฟอราลจนมิดเข็ม
  6. ดันน้ำกลั่นลงไปผสมกับยา เขย่าขวดจนยาละลายหมด
  7. คว่ำขวดยา และเลื่อนปลายเข็มลงมาใกล้จุกขวด
  8. ดูดยาที่ละลายแล้วทั้งหมดมาเข้ากระบอกฉีดยา
  9. ปลดเข็มออก สวมเข็มปีกผีเสื้อเข้ากับกระบอกฉีดยาแทน
  10. ไล่อากาศที่อยู่ในสายออกโดยดันยาขึ้นไปจนเกือบถึงโคนเข็ม
  11. ใส่กระบอกฉีดยาเขากับเครื่องมือขับยา (pump) จัดยึดให้กระชับ เลื่อนส่วนดันยาของเครื่องมาจนชดกระบอกสูบ
  12. เช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะฉีดยาด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
  13. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้คืบหนังและชั้นใต้หนังขึ้นมา แทงเข็มปีกผีเสื้อทำมุม 45องศา ผ่านผิวหนังลงไปจนถึง ชั้นใต้หนังปิดเทปทับเข็มและผิวหนังกันเข็มเลื่อน
  14. เปิดเครื่องมือขับยา ซึ่งตั้งเวลาไว้แล้วโดยให้ขับยาหมดในเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง
  15. คอยสังเกตปฏิกริยาที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา
  16. เมื่อยาหมด ปิดเครื่องมือขับยา และถอนเข็มออก สวมปลอกเข็มแล้วทิ้งเข็มและกระบอกฉีดยาลงในภาชนะที่เหมาะสม

ข้อแนะนำในการเลือกบริเวณที่จะฉีดยา

ควรหมุนเวียนบริเวณผิวหนังที่จะฉีดยาเพื่อลดความบอบซ้ำของผิวหนังที่ถูกฉีด และเพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดีด้วย นิยมฉีดบริเวณต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง ดังภาพ ควรจดบันทึกวันที่ที่ฉีด บริเวณที่ฉีด จำนวนยาและปฏิกริยาที่เกิดขึ้น หากมี การเก็บยา
  1. การเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  2. เก็บยาในที่เย็น และมืด ไม่ถูกแสงแดด
  3. เมื่อผสมยาด้วยน้ำกลั่นแล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
ปฏิกริยาข้างเคียงของยาเดสเฟอราล ระหว่างที่ได้รับยา ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวเป็นสีส้มจนถึงสีน้ำตาล เนื่องจากมีธาตุเหล็กถูกขับออกมาไม่มีอันตรายใด ๆ อาจมีผลข้างเคียงจากการให้ยา เช่น บวม แดง ร้อน บริเวณที่ถูกฉีดยา แต่จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ควรประคบบริเวณที่บวมด้วยน้ำอุ่นหรือกินยาแก้แพ้ อาการแพ้ยาอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ควรแก้ไขดังนี้
  1. แพ้เล็กน้อย : มีอาการคัน น้ำตาไหล จาม มีไข้ แก้ไขโดยให้ยาแก้แพ้พวก แอนติฮิสตามีน (antihistamine) กิน และรายงานแพทย์
  2. แพ้รุนแรง : จาม หายใจขัด เจ็บหน้าอก ปากบวม หนังตาบวม แก้ไขโดยรีบหยุดยา และติดต่อแพทย์โดยด่วน
การติดตามดูผลของการให้ยา การให้ยาขับธาตุเหล็กในผู้ป่วยที่มีธาตุเหล็กเกินมาก และผู้ป่วยที่ได้รับเลือดอย่างสม่ำเสมอ ควรได้รับเดสเฟอราลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง จึงจะมีประสิทธิผลในการกำจัดธาตุเหล็กที่เกินอยู่ ควรตรวจสอบปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายโดยการตรวจเลือดหาธาตุเหล็ก (ซีรั่ม เฟอไรติน) ทุก 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับยาขับธาตุเหล็กอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากธาตุเหล็กเกิน

คำแนะนำสำหรับการการตัดม้าม:


ม้ามคืออะไร

ม้ามเป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องด้านซ้ายส่วนบน ปรกติจะมีชายโครงบังอยู่คลำไม่ได้ภายในม้ามมีช่องทางที่ซับซ้อนคดเคี้ยวซึ่งเลือดต้องไหลเวียนผ่านเข้าไป

หน้าที่ของม้าม

แม้ว่าม้ามจะมีขนาดเล็กแต่มีหน้าที่สำคัญเพราะเป็นที่ดักจับกำจัดเชื้อโรคเป็นที่กำจัดเม็ดเลือดแดง แก่ๆ ที่กำลังจะตายตามอายุขัย และทำลายเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปรกติ เช่น เม็ดเลือดแดงป่องกลม (ในโรคเม็ดเลือดแดงป่องกลมพันธุกรรม เม็ดเลือดแดงรูปร่างแปลกๆ ที่พบในโรคธาลัสซีเมียเป็นต้น ในโรคธาลัสซีเมียเม็ดเลือดแดงจะมีอายุสั้น แตกเร็วกว่าเม็ดเลือดแดงปรกติมาก

ทำไมโรคธาลัสซีเมียม้ามจึงโต

ในระยะแรกม้ามโตขึ้น เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง (เพราะม้ามเคยทำหน้าที่มาก่อนตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ หลังคลอดไขกระดูกทำหน้าที่แทน) แต่ม้ามโตมากกว่า 6 เซนติเมตร มักจะกักกันเลือดไว้ได้มากจนทำให้มีการทำลายเม็ดเลือดมากขึ้นม้ามยิ่งโตมากก็จะยิ่งทำลายเม็ดเลือดมากขึ้นๆ ผู้ป่วยบางคนม้ามโต คลำได้ถึงสะดือหรือต่ำกว่าสะดือผู้ป่วยจึงยิ่งซีดลงมาก จนต้องให้เลือดถี่มากขึ้นๆ

    เมื่อไรจึงควรตัดม้าม

  1. เมื่อม้ามโตมากจนอึดอัด
  2. ต้องให้เลือดถี่กว่าเดิมมาก เช่น ทุก 2-3 สัปดาห์ ก็ยังไม่หายซีด
  3. ต้องมีอายุมากกว่า 4-5 ปี เพราะถ้าตัดม้ามในเด็กเล็กจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเด็กโต

    ผลดีของการตัดม้าม

  1. หายอึดอัด รู้สึกสบายขึ้น
  2. อาการซีดมักจะลดลง การให้เลือดลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคฮีโมโกลบินเอ็ช มักไม่ต้องให้เลือดอีกเลย ในเบต้าธาลัสซีเมีย ก็จะดีขึ้นให้เลือดลดลง

    ผลไม่ดีของการตัดม้าม

  1. จะติดเชื้อโรคบางชนิดได้ง่าย และรุนแรงมากกว่าก่อนตัดม้าม
  2. อาจมีธาตุเหล็กสะสมมากขึ้น เพราะมีการดูดซึมจากลำไส้เพิ่มขึ้น
  3. บางรายมีเกร็ดเลือดสูงมากหลังตัดม้ามในระยะแรกๆ

    การปฏิบัติตัวหลังตัดม้าม

  1. การปฏิบัติทั่วไป : ต้องมีสุขอนามัยที่ดีกินอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาด
  2. เกี่ยวกับการติดเชื้อ : กินยาเพนนิซิลลินวี (Pen V)1 เม็ดเช้า เย็น ตามที่แพทย์สั่งอย่างน้อย 2 ปี หรือจนพ้น วัยเด็ดเพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อบางชนิดที่พบบ่อยภายหลังการตัดม้าม (หากแพ้ยาเพนนิซิลลินต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ)อาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งป้องกันด้วยยา Pen V ไม่ได้มีอันตรายที่สุด มักมีอาการไข้สูง อ่อนเพลียอาจมีท้องเสียด้วยอาการทรุดลงรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาจซ็อคและเสียชีวิต จึงต้องคิดถึงภาวะนี้และไปโรงพยาบาลโดยรีบด่วนก่อนที่จะมีอาการช็อค เชื้อที่พบมักเป็นเชื้อกรัมลบ เช่น ฮีโมฟีลุส ซัลโมเนลลา อีดคไลหรือเชื้อกรัมบวก เช่น สเตร็ปโตคอคคัส แพทย์จะต้องให้การรักษาโดยรีบด่วน โดยให้ยาปฎิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อทั้งสองชนิดดังกล่าว โดยให้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำให้น้ำเกลือและติดตามอาการโดยใกล้ชิด
  3. ภายหลังการตัดม้าม ผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนพิเศษ เช่น ฮิบวัคซีน (H. influenzae type b vaccine)
  4. เกี่ยวกับภาวะเหล็กเกิน ควรตรวจสอบระดับธาตุเหล็กดูซีรัมเฟอไรตินทุกปี ขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการให้ยาขับธาตุเหล็ก
  5. เกี่ยวกับภาวะเกร็ดเลือดสูง ในเด็กมักเป็นชั่วคราวในระยะแรกๆ ภายหลังการตัดม้าม อาจจะทำให้เส้นเลือดถูกอุดตันได้ แพทย์จะให้ยาแอสไพรินในขนาดต่ำชั่วคราว ต้องติดตามตรวจนับเกร็ดเลือดทุกเดือน แพทย์จะหยุดให้แอสไพรินเมื่อจำนวนเกร็ดเลือดลดลง
 /Home/Thalassemia/Laboratory/Treatment/PND/Questions/Conference/Thal. club/Links/