About us l Thalassemia l Diagnosis l Treatment l PND l Questions l Thalassemia Club lConference l Links l News l HOME

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

การทดสอบความเปราะของเม็ดเลือดแดงชนิดหลอดเดียว

(One Tube Osmotic Fragility Test:)

หลักการ
เม็ดเลือดแดงปกติเมื่ออยู่ในน้ำเกลือความเข้มข้นร้อยละ 0.85 (0.85% NaCI) จะคงสภาพปกติ (biconcave) ไว้ได้ เนื่องจากน้ำภายในเซลล์ เท่ากับน้ำภายนอกเซลล์ แต่ถ้าลดความเข้มข้นของน้ำเกลือลงน้ำนอกเซลล์จะมากกว่าในเซลล์ น้ำจะแพร่เข้าเซลล์ เซลล์จะค่อย ๆ บวมขึ้นและเมื่อลดความเข้มข้นของเกลือจนถึงระดับหนึ่ง น้ำจะซึมเข้าเซลล์จนเม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดแดงจะแตกง่าย (increased osmotic fragility) หรือแตกยาก (decreased osmotic fragility) ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของพื้นที่ผนังเซลล์ต่อความเข้มข้นของสารภายในเซลล์ซึ่งส่วนใหญ่คือ ฮีโมโกลบิน โดยในภาวะใดก็ตามที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น เม็ดเลือดแดงก็จะแตกยาก เช่น target cell, hypochromic cell ตรงข้ามกับ spherocyte ซึ่งแตกง่าย เนื่องจากมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลง จากการศึกษาของ Kattamis C. และคณะพบว่าความเข้มข้นของน้ำเกลือที่ร้อยละ 0.36 เม็ดเลือดแดงของคนปกติจะแตกหมด แต่เม็ดเลือดแดงผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ป่วยที่เป็นพาหะจะยังแตกไม่หมด จึงได้นำเอาน้ำเกลือร้อยละ 0.36 นี้มาใช้ในการตรวจกรองเพื่อวินิจฉัยธาลัสซีเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีประโยชน์ในการสำรวจหาผู้ที่เป็นพาหะเพื่อควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมีย อย่างไรก็ตามการทดสอบนี้ไม่จำเพาะเจาะจงนัก เพราะภาวะอื่นที่เม็ดเลือดแดงมี hypochromia ก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน เช่น ในโรคโลหิตจางที่เกิดจากการขาดเหล็ก เป็นต้น

สารเคมีและน้ำยา

    Buffer saline solution
  • Stock solution : 10% NaCl buffer solution
    1. NaCl 90.00 กรัม
    2. Na2 HPO4 13.65 กรัม
    3. NaH2PO4.2H2O .43 กรัม
    4. เติมน้ำกลั่นให้ครบ 1000 มล.
  • 1 % Buffer saline solution
    1. Stock solution 50 มล.
    2. เติมน้ำกลั่นให้ครบ 500 มล.
  • Working buffer saline solution (0.36% NaCl)
    1. 1% Buffer saline solution 180 มล.
    2. เติมน้ำกลั่นให้ครบ 500 มล.

วิธีการ

  1. ใส่ working buffer saline 5 มล. ในหลอดทดลองขนาด 13x100 มล.
  2. ปีเปตเลือด 20 ไมโครลิตร ใส่หลอดทดลองในข้อ 1 ผสมเลือดกับน้ำยาโดยการกลับหลอดไปมา เบา ๆ ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 15 นาที อ่านผลตาเปล่า

การรายงานผล

  • Nagative : สารละลายใส แสดงว่าเม็ดเลือดแดงแตกหมด (91-100% hemolysis)
  • Suspicious : สารละลายขุ่นเล็กน้อยแสดงว่ามีบางส่วนของเม็ดเลือดแดงไม่แตก (86-90% hemolysis)
  • Positive : สารละลายขุ่น แสดงว่าส่วนใหญ่ของเม็ดเลือดแดงไม่แตก (น้อยกว่า 85% hemolysis)

    เอกสารอ้างอิง

  • การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เกียวกับความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ณัฐยา แซ่อึ้ง. กุลนภา ฟู่เจริญ บรรณาธิการ ภาควิชาจุลทรรศน์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหารวิทยาลัยขอนแก่น. 2540: 16-19.

    การย้อม อินคลูชัน บอดีย์

    (Inclusion bodies staining)

    หลักการ
    ฮีโมโกลบินเอช เป็นฮีโมโกลบินที่ไม่เสถียร เมื่อถูกออกซิไดซ์ด้วยสี briilliant cresyl blue หรือ methylene blue จะตกตะกอน เห็นเป็นเม็ดสีน้ำเงินคล้ายลูกปัดอยู่เต็มเซลล์

    สารเคมีและน้ำยา

      Citrate saline solution:
      1. 3% Sodium citrate solution
      2. 0.9% NaCl 80 มล.
      2% brilliant cresyl blue
      1. Brilliant cresyl blue 2 กรัม
      2. เติม citrate saline solution ให้ครบ 100 มล.

    วิธีการ

    1. ปีเปตเลือด 500 ไมโครลิตรใส่ในไมโครทิวป์ขนาด 1.5 มล. นำไปปั่น 5 นาที ที่ 3,000 รอบ/นาที ดูดเอาเฉพาะเม็ดเลือดแดงส่วนใต้ชั้น buffy coat มา 1 ส่วน ผสมกับ สี 2% brilliant cresyl blue 1 ส่วน ในหลอดทดลองขนาดเล็ก (10x75 มม.)
    2. อุ่นที่ 37ซ. 2 ชั่วโมง
    3. เมื่อครบ 2 ชั่วโมง นำส่วนผสมของเลือดและสีมาทำสเมียร์เลือดทิ้งไว้ให้แห้ง

    การรายงานผล
    นับเม็ดเลือดแดงที่มี อินคลูชันบอดีย์ ต่อจำนวนเม็ดเลือดแดง 50,000 เซลล์ แล้วรายงานเป็น % อินคลูชัน บอดีย์

    หมายเหตุ

    1. ผู้ป่วยโรค ฮีโมโกลบินเอช (alpha-thal 1/alpha -thal 2 หรือ alpha-thal 1/Hb CS) จะพบอินคลูชันบอดีย์ มากเกือบ 100% ยกเว้นถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดเหล็กร่วมด้วย % อินคลูบอดีย์ จะลดลง
    2. ผู้ป่วยโรค ฮีโมโกลบินเออีบาร์ทส์ (alpha-thal 1/alpha-thal 2-HbE) พบอินคลูชันบอดีย์ ประมาณร้อยละ 5-6
    3. อัลฟาศูนย์-ธาลัสซีเมียเทรต พบอินคลูชันบอดีย์ ได้ 1 ใน 100,000

    การทดสอบฮีโมโกลบิน อี โดยการตกตะกอนด้วย ดีซีไอพี

    Dichlorophenol indophenol (DCIP) Precipitation Test

    หลักการ
    ฮีโมโกลบินอี เป็นฮีโมโกลบินผิดปกติ ที่เกิดจากกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 26 ในสายตาบีตา-โกลบิน เปลี่ยนจากกรดกลูตามิก (Glu) ไปเป็น ไลซีน (Lys) (Hb E : glu- -> lys) ซึ่งไปมีผลทำให้พันธะที่ยึดระหว่างสายอัลฟา-โกลบินกับบีตา-โกลบินเหนี่ยวแน่นน้อยลงฮีโมโกลบินที่ควรจะอยู่ในรูปของเตตระเมอร์ (tetramer) จึงหลุดออกจากกันอยู่ในรูปของโมโนเมอร์โดยดีซีไอพี ทำให้สายโกลบินที่อยู่ในรูปโมโนเมอร์ ตกตะกอนลงมา ฮีโมโกลบินที่ไม่เสถียรอื่น ๆ (unstable Hb) เช่น ฮีโมโกลบินเอช ฮีโมโกลบินบาร์ทส์ ก็สามารถถูกออกซิไดซ์ให้ตกตะกอนได้ด้วยสีดีซีไอพี

    สารเคมีและน้ำยา

    DCIP reagent

    1. Trisma base 4.36 กรัม
    2. EDTA Na2.2H2O 2.68 กรัม
    3. DCIP 0.0276 กรัม
    4. Saponin 0.05 กรัม
    5. ปรับ พีเอช ให้ได้ 7.5 ด้วย 6N HCI
    6. เติมน้ำกลั่นให้ครบ 500 มล.

    วิธีการ

    1. นำเลือดที่มีอีดีทีเอ (EDTA) เป็นสารกันเลือดแข็งมาปั่นที่ 1000 g นาน 10 นาที แล้วแยกเอา ส่วนที่เป็นพลาสมาทิ้งไป
    2. นำเม็ดเลือดแดงจากข้อ 1 มา 20 ไมโครลิตร ใส่ลงในหลอดทดลองที่มี DCP reagent 5 มล. ผสมเลือดกับน้ำยา โดยการกลับหลอดทดลองไปมาเบา ๆ แล้วนำไปอุ่นที่ 37 ซ. นาน 1 ชั่วโมง

    การรายงานผล

  • Negative : สารละลายใส
  • Positive : สารละลายขุ่น

    หมายเหตุ
    การอุ่นน้ำยากับเลือดที่ 37 ซ. นานมากกว่า 1 ชั่วโมง จะให้ผลบวกปลอมได้

     /Home/Thalassemia/Laboratory/Treatment/PND/Questions/Conference/Thal. club/Links/