ปีต่อมา(พ.ศ.2499) คือประดับ สุขุม เป็นนายกชุมนุมดนตรีสากล จึงได้รวบรวมเพื่อนๆ และน้องๆ ซึ่งพึ่งจะเข้ามหาวิทยาลัย มาร่วมกันจัดตั้งวงดนตรี ประเภทBig Band ขึ้นมา ปัญหาข้อแรกที่ประสบคือ โน้ตจะเอาจากที่ไหนมาซ้อม จึงได้จัดการให้พวกเรา วิ่งไปขอลอกจากวงดนตรีต่างๆ สมัยนั้นเครื่องถ่ายเอกสารยังไม่มี จึงต้องลอกกันด้วยมือ แต่ด้วยความอุตสาหะ จึงได้โน้ตมาชุดหนึ่ง เพื่อใช้เล่นกันได้
วันแรกที่วงส.จ.ม.ออกแสดงคืองานต้อนรับนิสิตใหม่ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2499 คือก่อนที่จะออกแสดง ด้วยความตั้งใจ ที่จะต้องเล่นให้ได้ดี เราซ้อมกันอยู่ถึงตีหนึ่ง ยิ่งซ้อมยิ่งกลัวว่าจะไม่ได้ความ แต่ในการออกแสดงจริงๆ รอดตัวไป เราแสดงได้เป็นที่ถูกอกถูกใจ ของชาวจุฬาฯ จึงถือเป็นวันกำเนิดของ "วง ส.จ.ม." ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "ซี ยู แบนด์" อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับได้
สมัยตั้งวงเรามีห้องพักอยู่ที่หอประชุมจุฬาฯ ฟังดูหรูหราดี แต่จริงๆแล้ว เป็นการปิดห้องน้ำ ด้านปีกเหนือ ของหน้าหอประชุม มาเป็นที่เก็บเครื่องดนตรี เวลาซ้อม ก็ลงไปซ้อมกันบนเวที ในหอประชุม หรือหน้าหอประชุม หากบนเวทีไม่ว่าง ในห้องของเรานั้น นอกจากเก็บเครื่องดนตรีแล้ว ยังเป็นที่เก็บพรม ของหอประชุมอีกด้วย จึงมีสภาพที่แออัดมากทีเดียว
ปีต่อมา เราเริ่มออกแสดงกันมากขึ้น ได้รับเชิญไปแสดงตามงานต่างๆภายนอก ดาราดังๆ ในวงเรา อย่างเช่น ศักรินทร์ ปุณณฤทธิ์ ก็มีแฟนๆกรี๊ดกราดกัน พอสมควร มีบทเรียนหลายอย่าง ที่เราได้รับ เช่น การเรียกค่าใช้จ่าย ในการออกไปแสดงข้างนอก ครั้งแรกๆ ปรากฏว่า บางที ซึ่งเป็นงานติดๆกัน 2-3 วัน เจ้าภาพเค้าก็ต้อนรับเรา แบบวงรับจ้าง เมื่อจ้างมาแล้ว ก็ไม่ค่อยมาเหลียวแลพวกเรา พวกเราหลายคน ทนสภาพแบบนั้นไม่ได้ เพราะเราถือว่า เราไม่ใช่วงรับจ้าง เคยกลับจากงานมานั่งทะเลาะกัน ถึงตีสอง ตกลงกันให้คืนเงินเขา รุ่งขึ้นต้องอธิบาย ให้เจ้าของงานเข้าใจ และขอให้เขารับเราให้ดี ก็ยังเคย และนี่คือประสบการณ์ชีวิต
ปัญหาที่ประธานชุมนุมฯปวดหัวคือ นักดนตรีที่มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น กิจกรรมเชียร์หรือเล่นกีฬา พวกนี้เวลาที่ใช้ จะตรงกับเวลาซ้อมดนตรี จึงเป็นเรื่องที่ต้องโวยวายกันเป็นประจำ
ผู้ที่มีบทบาทเข้ามาทำให้วง ส.จ.ม. เปลี่ยนโฉมหน้าไปพอดู เพราะมีพัฒนาการ ที่ดีขึ้นคือ ธรรมนูญ ปวนะฤทธิ์ ซึ่งเข้ามาเป็น นักดนตรีในวง สมัย อ.สันทัด ตัณฑนันทน์ เป็นประธานชมรม เพราะมีความตั้งใจสูงมาก ในการพัฒนาวง นูญกับลุงตัน ได้ไปพบ Ading Dila นักดนตรีฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้ามาเล่นดนตรี ในเมืองไทย และ กำลังมีชื่อเสียงมาก และขอให้ Ading มาช่วยฝึกสอน และเรียบเรียงเสียงประสานให้ Ading สนิทสนมกับพวกเรามาก เคยเดินทาง ไปกับวง ส.จ.ม. เมื่อครั้ง คณะวิทยาศาสตร์ จัดไปเที่ยวเชียงใหม่ โดย สงวน ติยะสุวรรณ เป็นปฏิคมใจป้ำ ถึงขนาดให้ วงดนตรี ไปฟรีทั้งวง จากการไปในครั้งนี้ ทำให้ Ading มีความรู้สึก เหมือนกับเป็น ครอบครัวเดียวกับพวกเรา จึงช่วยเหลือเราอย่างใกล้ชิด
ธรรมนูญเป็นคนที่เขียนโน้ตสวย ได้จัดการเขียนโน้ตทุกแผ่นอย่างบรรจง ทำให้น่าดูขึ้นมาก และจากการมี Ading เข้ามา ทำให้เราได้มีโอกาสพบนักดนตรีเยี่ยมๆ จากฟิลิปปินส์ หลายคนซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านเหล่านั้นพอสมควร อาทิ ถาวร เยาวขันธ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก Roger Dila น้องชาย Ading ในเรื่องกลอง ผู้เขียนเองเคยเลียนแบบการเล่นทรัมเป็ตของ Niong Jimina (คุณพ่อของมาลีวัลย์ นักร้องดังในปัจจุบัน) เป็นต้น บรรดานักดนตรีฟิลิปปินส์เหล่านี้ บางคนได้ทำการเรียบเรียงเสียงประสานให้วงเรา และช่วยสอนให้พวกเราด้วย Ading เป็นคนเรียบเรียงเสียงประสาน ได้เยี่ยมมาก เพราะรู้มือพวกเรา จึงทำเพลงให้เหมาะกับเราได้ จากวิธีการที่พวกเราพยายามกันอย่างหนักนี้ ทำให้วง ส.จ.ม. ได้รับความนิยมและมีฝีมือดีขึ้นมามาก
ระยะนั้นมีภาพยนต์เรื่อง The Five Pennies มาฉายที่โรงหนังควีนส์ ได้มีการจัดประกวดวงดนตรีประเภท Small Big Band ไม่เกิน 9 คน จากวง ส.จ.ม. ของเรานั้น เราแบ่งออกเป็น 2 วง ด้วยกัน วงแรกตั้งชื่อว่า "วงจามจุรี" มีธรรมนูญเป็นตัวตั้งตัวตี เล่นแซกโซโฟน โดยมี Ading เป็นผู้ทำเพลงให้ มีมือแซกโซโฟนอีก 2 คน คือ จวบกับด้วง มีมือทรัมเป็ต 2 คน คือตัวผู้เขียนกับบัน นวยเล่นทรอมโบน และมีถาวรตีกลอง ทิดดู่เล่นเบส และพี่ติ๋มเล่นเปียโน โดยมีนักร้องคืออ้น ส่วนอีกวงชื่อ "จุฬาSixted" มีลุงตันเป็นโต้โผ เล่นทรอมโบน ผู้เล่นแซกโซโฟน คือ จาและพัก โดยมี กองตีกลอง ติ่งเล่นเปียโน และภาสเล่นเบส มีตุ้ยเป็นนักร้อง ผลการประกวด ปรากฏว่า วงจามจุรี ได้ที่หนึ่ง และวงจุฬาSixted ได้ที่สอง นับว่าเยี่ยมจริงๆ ทั้งสองวงตัดสินใจ นำเงินรางวัลที่ได้ ทูลเกล้าฯถวาย โดยเสด็จพระราชกุศล เพียงแค่ชนะทั้งสองวง เราก็ดีใจกันมากพอแล้ว
ต่อมา ราวๆปีพ.ศ.2506 ความนิยมวงเล็ก สมัยนั้นมาแรงมาก ทำให้วง ส.จ.ม. เอง โดนอิทธิพลเข้าไปด้วย จาก Big Band ได้ลดมาเป็นวงเล็ก เพื่อจะได้แสดงความสามารถ ของนักดนตรี ให้มากขึ้น แต่นั่นคือ การทำให้ วง ส.จ.ม. ลดบทบาท ลงไปด้วย เป็นเช่นนี้ 2-3 ปี โอภาสได้พยายามตั้งวง กลับมาใหม่ แต่จากการ ที่ห่างเหินกันไปนาน ทำให้ต้องไปซ้อมข้างนอก นักดนตรีที่มาร่วมเล่น ก็จะเป็นผู้ดูแล เครื่องมือที่เล่นอยู่เอง และระยะนั้น วงสตริงก็เริ่มเข้ามา มีอิทธิพลอีก ความสนใจกับ Big Band จึงยังไม่เกิด วงส.จ.ม. ซ้อมกันได้พักหนึ่ง ก็ราๆกันไป ที่เป็นปัญหามากที่สุด คือเครื่องดนตรี กระจายออกไปแล้ว โอภาสเก็บกลับมา ได้ไม่กี่อย่าง เพราะต่อๆมา จำกันไม่ได้ว่า เครื่องไหนอยู่ที่ใคร ที่เหลืออยู่ คือเบส ที่โอภาสเล่นเอง แซกบาริโทน ซึ่งพวกเราได้มาครั้ง เล่นในวันปีใหม่ ให้สมาคมนิสิตเก่า กลองชุดขาว และแสตนด์ชุดไม้สัก ที่นนท์ออกแบบไว้ ซึ่งถูกนำไปเก็บ ไว้ที่ใต้ถุนหอประชุม จนหมดสภาพ
วงส.จ.ม. เกือบจะเรียกได้ว่าระยะนั้นฝ่อไป เพราะมีแต่คน สนใจวงสตริง มีงานภายใน ก็มีวงสตริง ขึ้นมาเล่น ตามสมัย นับว่าเป็น ระยะที่ทุกคน ลืมวง ส.จ.ม. ไปเลย
ปลายปี พ.ศ.2513 กลุ่มนักดนตรี ได้แก่ พีรศักดิ์ อนนต์ โต กิตติใหญ่ ฝูง เป็นต้น ได้รวมตัวกัน พยายามตั้ง Big Band ขึ้นมาใหม่ โดยพยายามตามหา เครื่องดนตรีเดิม ได้จากคณะรัฐศาสตร์บ้าง จากหอพักนืสิตจุฬาฯบ้าง และจากรุ่นพี่วง ส.จ.ม. บางคน ซึ่งได้กลับมาหลายชิ้น บรรดาผู้ริเริ่มเหล่านี้ ได้พยายามรวบรวม นักดนตรี จากทุกๆคณะ มีการคัดเลือกนักร้อง ที่ให้สมัครจากทุกคณะ และคัดเลือกกันที่ หอพักนิสิตจุฬาฯ อ.สันทัด เป็นผู้มาให้คำปรึกษา เมื่อตั้งเป็นวงขึ้นมา ก็วิ่งไปลอกโน้ตจาก กรมประชาสัมพันธ์ มีการออกแบบ แสตนด์วง ซึ่งก้เป็นแบบที่ใช้ ต่อกันมา จนถึงทุกวันนี้
ขณะนั้น การฝึกซ้อม ทำกันอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ เพราะเก็บเครื่องดนตรีที่นั่น และปีต่อมา ได้งบประมาณจาก สโมสรก้อนแรก ราวๆ 40,000 บาท จึงใช้ในการซื้อเครื่องเสียง (Elk) และเครื่องดนตรีบางชิ้น
เมื่อตั้งวงแล้ว ออกแสดงครั้งแรกในงานฟุตบอลประเพณี ปีพ.ศ.2514 เครื่องแต่งตัวชุดแรก ของตอนนั้น เป็นชุดราชปะแตน แผงคอสีชมพู เราได้รับความอนุเคราะห้ จากวงธรรมศาสตร์ ให้ยืมเครื่องดนตรีบางชิ้น และมีเพื่อนๆ ทั้งจากธรรมศาสตร์ และเกษตรฯ มาช่วยด้วย
ผู้เขียนกลับจากต่างประทศปีนั้นพอดี ลุงตันเคี่ยวเข็ญ ให้ไปทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ งานแรกคือ ต้องหาที่ฝึกซ้อมให้ได้ เพราะที่ตึกจักรพงษ์ มีกิจกรรมมาก เป็นอุปสรรค ต่อการซ้อม กับทั้งเรามีเสียงดัง คนอื่นก็ไม่ชอบ ทางฝ่ายกิจการนิสิต ได้จัดการกั้นห้อง ใต้ถุนศาลาพระเกี้ยว ให้กลุ่มกิจกรรม แต่เราไม่ได้ใช้ เพราะเสียงก้อง จึงตกลงย้ายไปที่ สนามกีฬาจุฬาฯ ชั้น3 ซึางปัจจุบัน เป็นห้องชมรมนักร้องประสานเสียง เป็นห้องกระจก ร้อนมาก แต่จะทำอย่างไรได้ เราก็ทนอยู่กันไปอย่างนั้น
ต่อมาอีกหนึ่งปี มหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง โครงการพัฒนาดนตรีขึ้น ซึ่งมีการจัดตั้ง วงนักร้องประสานเสียงด้วย ที่สำคัญคือมี งบประมาณจัดทำ ห้องซ้อม ชมรมดนตรีสากล จึงย้ายลงมา อยู่ชั้นสอง เพราะกว้างขวางกว่า และให้นักร้องประสานเสียง ขึ้นไปอยู่ชั้นสาม การปรับปรุงห้องนี้ เมธี สกาวแสง มือทรัมเป็ต เป็นผู้ออกแบบ โดยมีการ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ตอน คือ ห้องซ้อมวง ห้องซ้อมร้อง และห้องรับแขก เมื่อได้ห้องซ้อมที่ดี ติดเครรื่องปรับอากาศด้วย จึงทำให้ พวกเรามีความสุขขึ้น และเพื่อให้มี ความปลอดภัย ในการเก็บเครื่องดนตรี และเครื่องเสียง ของชมรม จึงมีผู้อาสา อยู่ชมรม และช่วยดูแล ความสะอาด ของชมรมด้วย นักดนตรีบางคน เช่น อนนต์ วงศ์เกษม ได้ไปเรียน การเรียบเรียงเสียงประสาน ที่สยามกลการ ซึ่งต่อมาก็มีการ ส่งนักดนตรี ไปเรียน การเรียบเรียงเสียงประสาน นี้เป็นระยะๆ ผู้ที่เรียนแล้ว ก็มาทำเพลง ให้วงต่อไป
เมื่อวงเป็นปึกแผ่น ในวันทรงดนตรี 20 กันยา วงส.จ.ม. ซึ่งปัจจุบัน มักจะเรียกว่า วง ซี ยู แบนด์ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่นี้ จึงได้บรรเลง หน้าพระที่นั่ง ครั้งแรก ในปี พ.ส. 2515 โดยมีเพลงสำคัญคือ "ความฝันอันสูงสุด" ซึ่ง สีตลา เรืองศิริ เป็นผู้ร้อง อ.สันทัด เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน การออกแสดง ในครั้งนั้น วง ซี ยู แบนด์ ได้เสื้อนอกสีฟ้า ปักกระเป๋า ด้วยดิ้นทอง และไหมสีชมพู เป็นตราชมรมดนตรีสากล เป็นเครื่องแบบวง ใส่กับเนคไทสีดำ เสื้อขาว กางเกงดำ นับเป็นความสำเร็จ ที่น่าภาคภูมิ ของการฟื้นวงใหม่
ปี พ.ศ.2516 ในวันทรงดนตรี ครั้งนั้น อนนต์ ได้เรียบเรียงเสียงประสาน เพลงพระราชนิพนธ์ When สำหรับ บรรเลง 2 วงคือ วง อ.ส. และวง ซี ยู แบนด์ และได้ถวายโน้ต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงโซโล ร่วมกับวงดนตรีทั้งสอง หลังการบรรเลงเพลงนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าจะพระราชทานเพลง ร่วมบรรเลง ในวันทรงดนตรี คราวหน้า น่าเสียดายเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เสียก่อน การเสด็จ ทรงดนตรี เลยงด ตั้งแต่นั้นมา
ในระยะต่อมา วง ซี ยู แบนด์ ได้รับความนิยมมากขึ้น เราได้ทำงานใหญ่ๆหลายครั้งเช่น เป็นวงที่ช่วยเป็นจุดเริ่มต้น ของวง Yamaha Sound เราได้เคย เล่นคอนเสิร์ต หลายครั้ง หลายแบบ เช่น ที่ AUA ซึ่งเราเล่นเพลง jazz ซึ่งแต่งโดย นักดนตรีชาวอเมริกัน ทำคอนเสิร์ต ให้ ธงไชย แมคอินไตย์ และ อัญชลี จงคดีกิจ จัดโดย สมาคมนักเรียนเก่า เตรียมอุดม เพื่อหารายได้ ทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดประกวดเพลงสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทย และ แสดงคอนเสิร์ต เพลงสิ่งแวดล้อม โดยนักร้องจาก ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก เนื่องในโอกาส การจัดงาน วันสิ่งแวดล้อมโลก นอกกรุงโนโรบี ครั้งแรกของ โครงการสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ ตลอดจนถึง การทำเป็นวงใหญ่ ไปเล่น ประกอบการเชียร์ ของจุฬาฯ ในวันฟุตบอลประเพณี นักร้องจาก ซี ยู แบนด์ หลายคน ประกวดชนะ และเป็นนักร้อง ที่ได้รับความนิยมต่อมา นักดนตรีหลายคน จากวงเรา เป็นนักดนตรีอาชีพชั้นนำ อยู่ในปัจจุบันนี้ และหลายคน ได้เป็น นักเรียบเรียงเสียงประสาน ที่มีชื่อเสียง พวกเราหลายคน ไปประกอบธุรกิจ ทางดนตรี ทั้งตั้งบริษัทเอง หรือเป็นผู้จัดการ วงดนตรีดังๆต่างๆ ผลิตเทปออกสู่ตลาด อย่างได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง บางคนตั้งห้อง บันทึกเสียง ทั้งๆที่พื้นฐานที่เรียนมา อาจจะ ไม่ได้คิดจะมา ทางด้านดนตรี แต่ในที่สุด ก็มาประสบความสำเร็จ อยู่ในยุทธจักรดนตรี นี่เอง
ซี ยู แบนด์ โตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้ด้วยความตั้งใจจริง และความสามารถในการ รักษาความดี ของวงไว้ได้ โดยชาว ซี ยู แบนด์ ทุกๆรุ่น คนเก่าจากไป คนใหม่ก็เข้ามาแทนที่ บรรดาพี่ๆน้องชาว ซี ยู แบนด์ ยังคงคิดถึง ช่วยเหลือกันอยู่ อย่างใกล้ชิด นอกจากจะเป็น ครอบครัวที่ยิ่งใหญ่แล้ว ซี ยู แบนด์ ยังเป็นดุจ สถาบัน ซึ่งได้ผลิต บุคลากรด้านต่างๆ ออกไปสู่โลก แห่งดนตรีมากมาย เรากล้าพูดได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของ การสร้างสรรค์ดนตรี ที่มีคุณภาพ ให้คงอยู่จนทุกวันนี้
Sign My Guestbook
View My Guestbook